วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

ครูในศตวรรษที่ 21


      
          กระแสโลกาภิวัฒน์ทำให้สังคมประเทศและสังคมโลกเปลี่ยนแปลงด้านพลังอำนาจของชาติด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตสงครามเย็นยุติ  มหาอำนาจทางทหารเหลือหนึ่งเดียว คือ สหรัฐอเมริกา  การแข่งขันด้านเศรษฐกิจมีความรุนแรง  โดย แยกเป็น  3  ขั้วอำนาจ  คือ สหรัฐอเมริกา  สหภาพยุโรป  และเอเชีย  โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีนประเทศต่าง ๆ  สร้างความเข็มแข็งให้เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติให้ได้มาตรฐาน   เรียนรู้   คิดเป็น   สร้างนวัตกรรมได้  เพื่อความอยู่รอดของชาติและเผ่าพันธุ์ตนเองที่แท้จริงในอนาคต 

          ในสังคมใหม่มีการกล่าวถึงคำว่า “ การครอบโลก” คือการสั่งการโดยอำนาจทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจต่าง    พิเชียร  คุระทอง  (2541:2)  กล่าวว่าเห็นด้วยกับ  กมล  กมลตระกูล  ที่ได้ให้ความหมายด้านมืดของโลกาภิวัฒน์ (Globalization)  ว่าเป็น  “การครอบงำโลก”   ถ้าไม่มองโลกาภิวัฒน์  2 ด้าน  แล้วไม่สร้างภูมิต้านทานให้ตนเองหลงใหลตามกระแสโลกทั้งหมด  ประเทศโลกที่ ที่ยากจนจะถูกระแสโลกฉุดกระชากไปสู่ความหายนะ   อนาคตความอยู่รอดของชาติและเผ่าพันธุ์ของชาติ  กลับแปรเปลี่ยนเป็น  “ทรัพยากรมนุษย์”  ที่ต้องมีความรู้รอบด้านและมีสมรรถนะด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ  ที่ทันสมัยและสามารถแสวงหาความรู้ได้เองจากสื่อทุกประเภท  เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่  ความรู้ใหม่ โดยการวิจัยทดลอง  การลองผิดลองถูกเพื่อเป็นทรัพย์สมบัติของชาติตน  ดังแนวทางของชาวยุโรปได้เคยกระทำมาแล้วในอดีตเมื่อ  100  กว่าปีที่ผ่านมาลองผิดลองถูก  ทำการวิจัยตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ผลที่ได้เป็นศาสตร์ใหม่ นวัตกรรมใหม่และทุกคนยอมรับเป็นมาตรฐานสากล 

          ดังนั้นการดำเนินการพัฒนาดังกล่าว  ครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญโดยตรงและโดยอ้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ความสามารถแก่ศิษย์ทั้ง 4 ด้าน  คือ  ด้านความรู้  ความคิด หรือพุทธพิสัย (Cognitive  Domain)  ด้านความรู้สึก  อารมณ์  สังคมหรือด้านจิตพิสัย ( Affective  Domain)   ด้านทักษะปฏิบัติหรือทักษะพิสัย (Psychomotor  Domain)   ด้านทักษะการจัดการหรือทักษะกระบวนการ(Management  Skill)  ซึ่งเป็นความจำเป็น  4  ประการในการพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพ  และประสิทธิภาพ

          คุณลักษณะของครูและผู้สนับสนุนการศึกษายุคใหม่จึงน่าจะประกอบด้วยคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น   คุณลักษณะของผู้นำทางการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์  คุณลักษณะทางเทคโนโลยีทางการศึกษา  และคุณลักษณะของผู้มีคุณธรรมตามแนวทางคำสอนของทุกศาสนา

1. คุณลักษณะของผู้นำ ที่มีวิสัยทัศน์           มีคำกล่าวว่า  “ผู้นำต้องสอนผู้นำ”    และเอกสารวิจัย ทำนุ  พรหมาพันธ์ (2529: ค) กล่าวถึงการถ่ายทอดทางทหารเป็นลักษณะบอกเล่าประสบการณ์ทางทหารต่อ ๆ กัน   พีระศักดิ์  ทวีคูณ (2529 :ข) ได้สรุปว่าผลการวิจัยเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของผู้นำทางทหารที่ต้องการไว้ดังนี้  “ผู้นำทางทหารที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารหน่วยงาน  จะต้องเป็นผู้บริหารที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา  ไม่หยุด หมั่นศึกษาหาความรู้ ปรับตนเองเข้ากับสถานการณ์  ทันต่อเหตุการณ์เป็นพลวัต  โดยใช้วิธีการ  ระบบสารสนเทศที่ถูกต้องรวดเร็วและนวัตกรรม  ทางเทคโนโลยีสมัยใหม่  เป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารงาน”  จากที่กล่าวมาแล้ว ครูจึงน่าต้องเป็นผู้นำด้วย 

          การเป็นผู้นำหรือภาวะผู้นำ  ที่ยอดเยี่ยมและประจักษ์โดยทั่วไปในปัจจุบันคงต้องกล่าวถึง The  West point สถาบันทางทหารที่ผลิตนายทหารสัญญาบัตรและพลเรือนชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทั่วไปคุณสมบัติของผู้นำพลเรือนและพวกทหารก็มีความคล้ายคลึงกันเพียงแต่ว่าฝ่ายไหนจะเน้นคุณสมบัติข้อไหนเท่านั้น  เมื่อภาระหน้าที่ที่ทำเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายอย่างเช่นในยามสงคราม ต้องเรียนรู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเอาจริงเอาจัง  รู้จักให้ความสนใจกับคนรอบข้างและตนเองต้องไม่มองข้ามความสำคัญของทุกสิ่งรอบตัว คุณสมบัติเหล่านี้ต้องมีให้ครบ  ในสถานการณ์เสี่ยงภัยแบบนั้นจะสอนให้คนมีปฏิกิริยาบางอย่าง  เร็วขึ้นกว่าในภาวะปกติกว่าแบบการทำงานในองค์กรพลเรือน  พฤติกรรมที่ว่านี้คือจะมีการเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาสูง  มีความจงรักภักดี  มีความตั้งอกตั้งใจ รู้จักเสียสละและมีความซื่อสัตย์

          แต่ในปัจจุบันนี้ในวงการธุรกิจเอกชนที่มีการแข่งขันกันมาก  ราวกับการสู้รบในสมรภูมิ  การเรียนรู้คุณสมบัติเหล่านี้ให้รวดเร็วทันการณ์ก็จะพบว่าเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง  อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน ซึ่งหมายความถึงภาวะทางจิตที่ต้องสร้างให้คนมีความอดทน  เชื่อฟัง  คล้อยตามต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ จนชำนาญไม่ตื่นตระหนกสามารถเข้าทำการรบได้จริงเมื่อมีสถานการณ์  หรือปฏิบัติการณ์ที่สำคัญ   ได้โดยจิตวิญญาณนักรบของทุกชั้นยศซึ่งยอมรับด้วยเกียรติยศที่ห้ามหยามหมิ่นเป็นสิ่งที่ผู้นำทางทหารทั่วไปให้ความสำคัญกว่าพลเรือน

          ผู้นำที่สามารถชี้นำกลุ่มกระทำการได้บรรลุผลสำเร็จ  สามารถแก้ไขเหตการณ์ในภาวะคับขันในภาวะคับขันด้วยการสร้างสรร  ไม่ทำลายโดยขาดสติถือว่าเป็นผู้นำชั้นยอด  และหากเหตุการณ์เดียวกันผู้นำตัดสินใจผิดพลาดก็ไม่ต่างกับฆาตรกรที่ทำลายองค์กรและกลุ่ม   ชื่อเสียงของ The  West point  ช่วงตลอดอายุอันยาวนานเกือบเท่าอายุประเทศสหรัฐอเมริกาของสถาบันแห่งนี้  ผู้ที่เคยผ่านรั้วเวสต์ ปอยด์   มีทั้งผู้นำทางทหารหลายต่อหลายคน อาทิ ดั้กลาส  แมกอาเธอร์  ดไวท์  ดี ไอเซนเฮาว์   นายพลห้าดาวผู้ลือลั่นสมัยสงครามโลกครั้งที่  2    นอร์แมน  ชว็อซคอฟ  แห่งยุทธการการพายุทะเลทราย  มาถึงรุ่นล่าสุด  คอลลิน  เพาเวลล์  รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสหรัฐอเมริกาและผู้นำพลเรือนอย่าง โรเบิร์ต วู้ดแห่งเซียร์ โรบั้ค แรนด์ อราชค็อก  ประธานบริษัทไอทีที  แฟรงค์  บอร์แมน อดีตนักบินอวกาศและอดีตประธานบริษัทอีสเทอร์น แอร์ไลน์  ตลอดจนบริษัทใหญ่อีกหลายแห่ง  ปรัชญาการฝึกฝนและปฏิบัติของชาวเวสต์ ปอยด์   จึงยังคงความขลังอยู่เสมอให้บุคคลผู้ปราถนาจะเป็นผู้นำ  ที่ประสบผลสำเร็จในการได้เรียนรู้  ซึมซับและเข้าใจแก่นแท้ของความคิด  ตลอดจนการฝึกฝนเคี่ยวกรำอย่างหนักที่หล่อหลอมให้นักเรียนนายร้อยเวสต์ ปอยด์  เป็นผู้มีบุคลิกภาพและคุณลักษณะพิเศษ 

          Col. Larry R.Donnithorne ( 1994 ) อดีตอาจารย์นักเรียนนายร้อยเวสต์ ปอยด์กล่าวถึง  ผู้นำที่มีคุณลักษณะหมายถึง ลักษณะผู้นำที่ต้องการให้นักเรียนนายร้อยเวสต์ ปอยด์  มี ดังนี้   ความมั่นใจ  ความทะเยอทะยาน  ความกล้าหาญ  ความเฉลียวฉลาด  มีวาทะจูงใจ   ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์    ความเมตตาและที่ควรมีตัวผู้นำทางทหารอย่างมากที่ไม่ควรมองข้ามคือความซื่อสัตย์ เป็นที่ไว้วางใจอย่างไม่มีข้อกังขาใด ๆแม้ในภาวะคับขันและคุณลักษณะอีกอันหนึ่งที่ผู้นำควรมีคือ  ความก้าวร้าว   ผู้นำทุกคนต้องประสบกับการเสี่ยงภัย   ยิ่งต้องเสี่ยงมากระดับความกลัวก็มากขึ้น   วิธีที่ดีที่สุดที่จะฝึกตัวเองให้จัดการกับความกลัวได้   เมื่อต้องอยู่กับความเสี่ยงสูงก็คือ  เอาชนะความกลัวให้ได้ในสภาวะคับขัน  ผู้นำทุกคนจำเป็น (Needs) จะต้องมีความก้าวร้าว  แต่ผู้นำที่ดีจะต้องรู้จักควบคุมความก้าวร้าว  ต้องไม่มีการระเบิดวาจาออกมาเพราะขาดการควบคุมตนเอง  ผู้นำทุกคนต้องเสียสละอย่างสุดชีวิตเพื่อนำองค์กรของตนเองไปสู่ชัยชนะ  ความก้าวร้าว  เป็นบุคลิกอันหนึ่งที่ผู้นำต้องใช้เมื่อเป้าหมายคือชัยชนะ  แต่ผู้นำมีคุณลักษณะที่ดีทั้งทางพลเรือนและทหาร  ต้องเข้าใจว่าชัยชนะจะต้องได้มาด้วยวิธีการที่ขาวสะอาด  Col.  Larry  R.Donnithorne ( 1994:48)

2. คุณลักษณะของเทคโนโลยีทางการศึกษา           เทคโนโลยีทางการศึกษา  หมายถึง  การสื่อสารเพื่อการถ่ายทอดทางการศึกษาแก่ผู้เรียนด้วยสื่อ  เช่น   คอมพิวเตอร์  มัลติมีเดีย (สื่อประสม) ฯลฯ  
          มัลติมีเดีย  หมายถึง อุปกรณ์ที่ใช้งานกับ คอมพิวเตอร์

         พรพิไล  เลิศวิชา (2544)  กล่าวถึงการใช้มัลติมีเดีย   ว่าควรใช้ดังนี้  เป็นเครื่องมือสร้างภาพแทนข้อมูลตัวเลขในรูปกราฟ ต่าง ๆ อธิบายหลักการคณิตศาสตร์ สมการ และการพิสูจน์ต่าง ๆ ใช้แสดงผลของความสัมพันธ์ที่สามารถกำหนดเงื่อนไขและค่าตัวแปรต่างๆ  ได้ เพื่อทดลองสังเกตและฝึกแก้ปัญหา
          -  ใช้ตารางคำนวณ  (Spread  Sheet)
          -  ใช้ในงานข้อมูล  งานสถิติ ใช้เปรียบเทียบประมวลผลข้อมูลในงานต่าง ๆ
          -  ใช้เป็นฐานข้อมูลบันทึกรวบรวมคัดเลือกแยกหมวดหมู่ข้อมูลต่าง ๆ ทำดัชนีและระบบค้นหา
          -  ใช้สร้างงานสารานุกรมบนจอคอมพิวเตอร์ที่มีระบบเน้นอักษรขยายความ
 (Multimedia Interartive Hypertext Encyclopaedia) ทำให้การค้นคว้าทำได้เร็วและได้ผลดี
          -  เป็น  database  search engine สำหรับค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เนต
          -  ใช้สร้างสิ่งแวดล้อมจำลองสถานการณ์ (Simulation) สร้างสภาพการทำงานจำลอง จำลองกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม  และจำลองอื่น ๆ
          -  เป็นเครื่องมือในการสาธิตระบบโต้ตอบต่าง ๆ
          -  เป็น Word  Processer  เตรียมเอกสาร หรือเตรียมเนื้อหาต่าง ๆ สำหรับงานพิมพ์
          -  เป็นเครื่องมือสร้างดนตรี  งานศิลปและงานสร้างสรรต่างๆ 
          -  ใช้เป็นเครื่องมือช่วยออกแบบระบบกลไกและอุปกรณ์ไฟฟ้า  ออกแบบโครงการ  งานสถาปัตยกรรม หรือแม้กระทั่งออกแบบโมเลกุลสารอินทรีย์ในระดับซับซ้อน
          -  เป็นเครื่องมือสำหรับนักเรียนใช้ฝึกเขียนโปรแกรม
          - ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างครู  ผู้ปกครอง ผู้เชี่ยวชาญ  นักเรียน นักศึกษาและสมาชิกของชุมชน
          สถาบันชั้นนำทางทหารของโลก  อีกแห่งหนึ่งคือ โรงเรียนนายร้อยแซนเฮสต์   (Royal  Military  Academy  Sandhurst)  ของประเทศอังกฤษ ที่กล่าวถึงคุณลักษณะด้านการสื่อสารเพื่อการศึกษา (Communication  Studies  Competency)  ในตัวนายทหารหนุ่ม (young  officer) ว่าเป็นความต้องการจำเป็น (needs) น่าจะรู้และเข้าใจวิถีของผู้นำและความสามารถในการสื่อสาร (Communication)ให้ชัดเจนในทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  (All  professional  context) เช่น การสัมมนา (Seminar)  การจดบันทึกข้อมูล (lectures)  เป็นต้น  รายการตัวบ่งชี้ที่พอจะจัดเข้ามาในกลุ่มเพื่อกระทำ (Performance )เป็นสมรรถนะด้านนี้คือ 
          การแสดงผลงาน  (Presentation Skills)
          การใช้ภาษาอังกฤษ  (Written  English) 
          การสัมภาษณ์ (Interviewing)
          การเจรจาต่อรอง  (Negotiation)
          การติดต่อใกล้ชิดของสื่อทางการทหารและสื่อมวลชน (Military/Media
 Relations and Media hanging)
          การใช้คอมพิวเตอร์ (Basic  Computer  Skills)
          ทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Interpersonal  Skills)

          ทฤษฏีการเรียนรู้แนวคอนสตรัคติวิสม์  Constructivism  ปิอาเช่ต์ ( Jean  Piaget) เสนอว่า  ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ขึ้นมา  เมื่อเขาลงมือทำ  แสวงหาเหตุผล  ค่อยๆ ทำความเข้าใจจนได้ข้อสรุป  ได้ความรู้มาด้วยการลงมือเอง  ผู้เรียนได้ความรู้มาโดยผ่านกระบวนการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมของผู้เรียนเอง  ตัวผู้เรียนเองค่อยสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับโลกของตัวเขา  ทฤษฎีใหม่ๆ ในใจของผู้เรียนจะเพิ่มพูนขึ้นเข็มแข็งขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งได้มาโดยอาศัยตรรกต่างๆ ที่เขาค่อยๆ สะสมขึ้นมาจากการเรียนรู้เอง (Concept)

          ทฤษฏีคอนสตรัคติวิสม์  นั้นได้รับการกล่าวถึงและเผยแพร่กว้างขวางโดยอาจารย์  ซีมัวร์  เพเพิร์ต (Seymour  Papert) ทฤษฏีคอนสตรัคติวิสม์ ได้ขยายความหมายของ  Constructivism ออกไปโดยที่อธิบายว่า  การศึกษาต้องเน้นให้เด็กสร้างความรู้ขึ้นมาเอง ถ้าเด็กมี อะไร อยู่ข้างในเป็นฐานแล้ว  จากสัมพันธภาพกับสิ่งต่างๆ   เด็กต้องสร้างสิ่งอื่นๆ ขึ้นมาใหม่  อันเป็นบันไดขั้นถัดไปจากการแสวงหาความรู้เบื้องต้น
        สิ่งแวดล้อมที่ช่วยสร้างบรรยากาศในการสร้างความรู้ของเด็กในความคิดของ Papert  คือ 
          1. บรรยากาศและเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้เด็กสร้างสรรค์สิ่งที่เขาสนใจได้อย่างแท้จริง
          2. สภาพแวดล้อมสังคมที่มีความหลากหลายเอื้อให้เด็กได้ร่วมมือร่วมคิดกับคนอื่น

3. คุณลักษณะของผู้มีคุณธรรมตามแนวทางคำสอนของทุกศาสนา          หลักศาสนาทุกศาสนานั้นมีคำสอนที่ดีเพื่อให้มนุษย์เมื่อเกิดมาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  สร้างความดี  ไม่เบียดเบียน  ละเว้นความชั่ว  อบายมุขทั้งปวง  ตลอดทั้งขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ให้อยู่ในกรอบของความดีงามตั้งแต่เด็กจนเติบโต   ผู้นำที่ดีต้องมีคุณธรรมและจรรยาบรรณเป็นของตนเอง   ขอยกเอาหลักการฝึกสอนผู้นำของเวสต์ ปอยต์  เป็นหลักการที่เยี่ยมมากและมีเนื้อหาครอบคลุมสิ่งต่าง    อย่างกว้างขวางขั้นตอนที่ใช้ก็สมเหตุสมผล  เป็นหลักการที่ดีทั้งในทางทฤษฏีและในทางปฏิบัติ  แต่สิ่งที่ทำให้หลักสูตรของเวสต์  ปอยต์    เด่นที่สุดคือเป้าหมายของการเรียนการสอนการเป็นผู้นำการ  “นำ”  ของผู้นำจากเวสต์ ปอยต์    มีรากฐานแห่งศีลธรรมจรรยาเป็นหลัก  รากฐานที่ได้รับการปลูกฝังไว้อย่างแน่นหนา นักเรียนนายร้อยที่สำเร็จการศึกษาแบบเวสต์ ปอยต์   จะกลายเป็นผู้นำที่มีคุณลักษณะ  ที่เวสต์ปอยด์ผู้นำทุกคนต้องถือความสำคัญของวาจาเท่าเทียมกับการกระทำของเขา  และการรักษาคุณธรรมประจำสถาบันเหนือความสัมพันธ์อันเหนี่ยวแน่นของพวกพ้อง 

          กฎของเวสต์ ปอยด์ ข้อหนึ่ง กล่าวว่า  “  คุณธรรมขององค์กรมีความสำคัญเหนือความจงรักภักดีในระหว่างพวกพ้อง”  Col.  Larry  R.Donnithorne ( 1994:66)    ถ้าเวสต์ ปอยด์  ละเว้นกฎข้อนี้แล้ว การจะสร้างให้องค์กรมีประสิทธิภาพย่อมเป็นไปไม่ได้  อันตรายของการที่พวกพ้องเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นก็คือจะทำให้เป้าหมายของกลุ่มมีความสำคัญกว่าเป้าหมายขององค์กรที่พวกเขามีส่วนร่วมอยู่องค์กรจะกลายเป็นของ  "พวกเขา”  ไปแทนที่จะเป็น  “ พวกเรา”  เวสต์  ปอยด์  เริ่มต้นการสอนหลักศีลธรรมจรรยาและวิชาอื่นๆ  ด้วยการให้เขาเรียนรู้กฎระเบียบก่อนกฎแห่งคำสัตย์ปฏิญาณเมื่อผู้นำนักเรียนนายร้อยย่างเข้ามาในโรงเรียนแล้ว  เขาต้องเข้าพิธีสาบานตน  รับคำสัตย์ปฏิญาณที่มีเนื้อหาฟังดูอ่อนหวานและตรงไปตรงมา  มีใจความว่า  “นักเรียนนายร้อยจะต้องไม่โกหก  ไม่คดโกง  ไม่ขโมยและจะต้องไม่ยินยอมให้ผู้ใดกระทำการเหล่านี้ “  และนั้นคือแห่งถ้อยคำเกียรติยศ  และสอดแทรกการอบรมศิลธรรมโดยอนุศาสนาจารย์ที่เป็นสายเลือด  ที่ผ่านการศึกษาด้านจิตวิทยาในระดับสูง

          จากที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดเป็นแนวความคิดของผู้เขียนที่รวบรวมจากเอกสาร  สื่อ หลายแบบเพื่อเป็นแนวคิด   ด้านการพัฒนาคุณลักษณะของครูและผู้สนับสนุนการศึกษายุคใหม่ที่น่าจะประกอบด้วยคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น    คุณลักษณะของผู้นำทางการศึกษา  คุณลักษณะทางเทคโนโลยีทางการศึกษา  และคุณลักษณะของผู้มีคุณธรรมตามแนวทางคำสอนของทุกศาสนา   โดยยกตัวอย่างของ The  West point  สถาบันทางทหารที่ผลิตนายทหารสัญญาบัตรและพลเรือนชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา   คงพอสรุปเป็นภาพรวมตอนท้ายนี้ได้ว่า  อนาคตของเยาวชนของชาติก็คืออนาคตของประเทศ  น่าจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบในการพัฒนาคุณภาพ  ประสิทธิภาพ ไม่ว่าทั้งโรงเรียน  ครอบครัว ฯลฯ  แต่คงจะต้องผูกพันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการกระทำ   จากการกำหนดนโยบาย  การปฎิบัติ   การตรวจสอบ  การประเมินประสิทธิผล   ซึ่งคงจะต้องตามความเปลี่ยนแปลงในกระแสของโลก  ที่จะกำหนดตัวบ่งชี้  มาตรฐานของทุกสิ่งที่เกิดมาว่า  “ควรอยู่ต่อไป”  หรือ  “ควรพัฒนาขึ้นไปอีก"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น